ผลวิจัยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทันตกรรมไทย – จากที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียซึ่งประกอบด้วยธุรกิจบริการรักษาพยาบาล ธุรกิจส่งเสริมสุขภาพ และธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทยนั้น ธุรกิจบริการรักษาทางทันตกรรมถือเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญที่สร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ปัจจัยที่ผลักดันให้มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการบริการทันตกรรมในประเทศที่เป็นกลุ่มที่พัฒนาแล้วมีราคาสูง การรอคิวใช้บริการทันตกรรมในประเทศเหล่านั้นยาวนาน ระบบประกันสุขภาพของรัฐไม่ครอบคลุมการใช้บริการทันตกรรม และนโยบายของรัฐในกลุ่มประเทศที่เป็นแหล่งเป้าหมายในการเดินทางไปใช้บริการทันตกรรม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ติดอยู่ในประเทศเป้าหมายระดับโลก และในภูมิภาคเอเชียถือไทยก็เป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดใกล้เคียงกับอินเดียและมาเลเชีย
ทันตแพทย์ปภณ จงธนะวนิช นักศึกษาปริญญาเอกทุนกาญจนาภิเษกในหลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชานิเทศศาสตรการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนักวิจัยแลกเปลี่ยนที่ Center for Survey Research, Indiana University at Bloomington ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อทำวิจัยเรื่อง “กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างตราสินค้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทันตกรรมในประเทศไทย”
โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.จันทิมา เขียวแก้ว อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก คระนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และ Professor John M. Kennedy อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม โดยมีวัตถุประสงค์วิจัยเพื่อศึกษาสภาพการสื่อสารการตลาดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทันตกรรมในประเทศไทย,ความพึงพอใจต่อการใช้บริการท่องเที่ยวทางทันตกรรมในประเทศไทยของชาวต่างประเทศและการเสนอกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเพื่อการสร้างตราสินค้าการท่องเที่ยวทางทันตกรรมในประเทศไทย โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ การสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางทันตกรรมในกลุ่มประชาชนชาวอเมริกัน และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก
ทันตแพทย์ปภณ จงธนะวนิช นักศึกษาปริญญาเอกและนักวิจัยทุนกาญจนาภิเษก ม.หอการค้าไทยและ รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชานิเทศศาสตรการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ทันตแพทย์ปภณ จงธนะวนิช นักศึกษาปริญญาเอกและนักวิจัยทุนกาญจนาภิเษกในหลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชานิเทศศาสตรการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “ผลจากการศึกษาความพึงพอใจต่อการใช้บริการท่องเที่ยวเชิงทันตกรรมในประเทศไทย ด้วยการใช้ Big Data Analysis
จากข้อมูลที่สืบค้นได้จากกระทู้ของชาวต่างชาติจากทั่วโลกที่เขียนโต้ตอบในเว็บ Tripadvisor.com ที่เขียนในระหว่างเดือนธันวาคม 2011 ถึง มีนาคม 2019 เกี่ยวกับการเดินทางมาใช้บริการทันตกรรม ( Dental tourism) ในประเทศไทย ข้อมูลนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Nvivo) พบว่าชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของกระทู้ส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลียน อเมริกัน และอังกฤษ มีความพึงพอใจและให้ความสำคัญกับคุณภาพของการรักษาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือความเชี่ยวชาญและความชำนาญและเชื่อมั่นในคุณภาพการให้การรักษาของทันตแพทย์ไทย และอันดับที่สาม คือ ความเป็นไทย ซี่งปรากฏในองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกันไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่มีความพร้อม เช่น การคมนาคม โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ฯลฯ โดยเฉพาะรอยยิ้ม และความเป็นมิตรของคนไทย นอกจากนี้ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันในโครงการ US & Korea Opinion Survey ซึ่งศึกษาความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันทั่วประเทศ ในปัญหาต่างๆ ในเดือน กันยายน 2019 ในส่วนของการรู้จักประเทศที่เป็นเป้าหมายปลายทางของการท่องเที่ยวทางทันตกรรมในภูมิภาคเอเชีย ที่ 3 ประเทศ พบว่าคนอเมริกันรู้จักประเทศสิงคโปร์ ประเทศไทย และ อินเดีย ตามลำดับ”
รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชานิเทศศาสตรการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “ผลจากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลักที่เป็นผู้ที่อพยพชาวไทย ลาว กัมพูชาที่อาศัยในแถบรัฐนิวยอร์คและคอนเน็คติกัต พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนพวกนี้มีการเดินทางกลับมาใช้บริการทันตกรรมที่ประเทศไทย เพราะค่าใช้จ่ายที่ถูกว่ากันมากกว่าสองถึงสามเท่า เมื่อรวมค่าเดินทางแล้วบางครั้งยังถูกกว่าที่ไปใช้บริการทันตกรรมในสหรัฐอเมริกา และการเดินทางมาประเทศไทยนอกจากได้ดูแลสุขภาพฟันแล้วยังถือเป็นการได้กลับมาเยี่ยมเยือนพี่น้องเพื่อนพ้องในประเทศของตน ซึ่งในกลุ่มคนลาวหรือกัมพูชา การเดินทางกลับมาเยี่ยมเยือนประเทศของตนมักต้องผ่านมายังประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทันตกรรมก็แสดงความสนใจอย่างมาก
แต่ที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ ข้อค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ไม่มุ่งเฉพาะชาวต่างชาติให้มาใช้บริการทันตกรรมในประเทศไทยเท่านั้น แต่กลุ่มคนไทยและชาติอื่นที่เป็นเพื่อนบ้านกับประเทศไทยก็เป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจ ต้องขอบคุณโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้ทุนแก่อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาของหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้มีโอกาสทำงานวิจัยด้วยความร่วมมือกับ Indiana University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก การผลิตผลงานวิจัยที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศเป็นหมายสูงสุดในการดำเนินงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่ประสบการณ์ที่นักศึกษาได้รับมีมากกว่าการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักศึกษา”
“การสัมภาษณ์ทันตแพทย์ชาวต่างชาติออสเตรเลียที่เดินทางมาร่วมการประชุมที่สหรัฐอเมริกาทำให้ทราบว่าคนออสเตรเลียนที่เดินทางมาใช้บริการทางทันตกรรมในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นตัวเลือกอันดับแรกจะเป็นคนในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางคนถึงน้อย เพราะคนฐานะดีจะซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน เพราะหากจะใช้บริการของประกันสังคมของรัฐบาลออสเตรเลียต้องรอคิว1ปี ค่าประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการบริการทางทันตกรรมจะมีค่าเบี้ยประกันสูง คนรายได้ไม่มากพอจะซื้อไม่ได้ แต่อยากทำฟันเลยเดินทางมาใช้บริการในประเทศอื่นที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าทำในประเทศ ข้อค้นพบในเรื่องการใช้บริการทางทันตกรรมด้วยการซื้อแผนประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการทำบริการทันตกรรม เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่ต้องติดตามต่อรายงานการตลาดด้านการประกันสุขภาพทางทันตกรรม Global Dental Insurance Market 2018-2025 ของ Adroit Market Research ชี้ว่าการประกันทางทันตกรรมขยายตัว
เพราะการตระหนักถึงความสำคัญของการการมีทันตอนามัยที่ดีของประชาชนมีสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากจากการรณรงค์ต่างๆ ไม่เฉพาะในกลุ่มคนอเมริกัน แต่เป็นทั่วไปในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว บริษัทประกันสุขภาพที่มีบทบาทในตลาดโลกด้านการประกันทันตสุขภาพมีหลายบริษัท ได้แก่ AXA, MetLife, Humana, Aflac, Delta Dental, Colonial Life, Envivas, CIGNA Dental, Ameritas, MetLife Inc, Aetna, OneExchange and Cigna
ที่สำคัญยังพบว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวพบว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยที่มีบริการประสานงานกับบริษัทประกันสุขภาพโดยตรงเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างประเทศที่จะเดินทางมาใช้บริการทันตกรรมของโรงพยาบาล ช่วยให้มีความชัดเจนในเรื่องแผนการรักษา ราคาค่าใช้จ่ายที่บริษัทประกันจะจ่ายตรงให้กับโรงพยาบาลโดยลดขั้นตอนความสับสนวุ่นวานทางเอกสารและไม่ต้องสำรองเงินค่ารักษาไปก่อนแล้วเบิกคืนทีหลัง” ทันตแพทย์ปภณ จงธนะวนิช กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ: ข่าวสด
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_2963295