My Story 1 : ไม่มีเรื่องบังเอิญ มีแต่พรหมลิขิต
My Story 2 : เรียนทั้งทีต้องได้ทั้ง Value (มูลค่า) และ Value (คุณค่า)
My Story 3 : The 4 Ps for being Successful in my Doctoral Degree.
My Story 1 : ไม่มีเรื่องบังเอิญ มีแต่พรหมลิขิต
2 ติ๋ม แม่ผู้ให้กำเนิด…
1. “แม่ติ๋ม” วาสนา ผู้ให้กำเนิด “ด.ญ.สุชาดา” ตอนนี้น่าจะกำลังยิ้มอย่างภูมิใจที่ไหนสักแห่งบนท้องฟ้า
2. “แม่ติ๋ม” รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว แม่ผู้ให้กำเนิด “ดร.สุชาดา” และดร.เพื่อนๆอีกหลายคน
….ไม่เคยรักใครเท่าติ๋ม….
My Story 2 : เรียนทั้งทีต้องได้ทั้ง Value (มูลค่า) และ Value (คุณค่า)
ขึ้นเวที 2 ครั้ง เป็นเกียรติประวัติในชีวิต
ตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มตัดสินใจเข้าเรียนว่าจะเรียนให้เต็มที่ ให้สมกับที่เก็บหอมรอมริบค่าเทอมและค่าใช้จ่ายตลอดการศึกษา ไม่เคยขาดเรียน ไม่เคยขาดสอบ ตักตวงวิชาความรู้ให้ได้มากที่สุด หวังเพียงอยากสอบให้ผ่าน สอบให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากจบพร้อมเพื่อนๆ อยากจบตามเวลาที่กำหนด ตั้งใจกับทุกสิ่งที่ต้องทำ จนบางครั้งก็เครียดเกินไป ร้องไห้ตาบวม เพราะช่วงที่เรียนมีหลายๆอย่างเข้ามาทดสอบความอดทนและความแข็งแกร่งของจิตใจอยู่เนื่องๆ แต่มันก็ผ่านมาได้กับเกรดเฉลี่ย 4.00
เพื่อพิสูจน์ว่าเราเรียนด้วยหลักสูตรที่มีคุณภาพ มีคณาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ที่ปรึกษาที่เก่งที่สุดและการันตีด้วยการได้รับทุนวิจัยดุษฎีนิพนธ์ในระดับชาติ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติอีก 1 รางวัล
ตอนขึ้นเวทีรอบ 2 หัวใจพองโต มือเย็นเฉียบ เพราะไม่คาดคิดว่าจะได้รับใบประกาศฯอีก 1 ใบ
แม่กับยายดูหนูอยู่ใช่ไหม ภูมิใจในตัวหนูไหมจ๊ะ
หนูหวังว่าหลังจากนี้จะได้ใช้ความรู้ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติต่อไป
My Story 3 : The 4 Ps for being Successful in my Doctoral Degree.
ถอดรหัส 4 ปัจจัยสำคัญในการเดินทางออกจากหุบเขาวงกตแห่งการเรียนปริญญาเอกของฉัน
Passion “ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง” ให้เราจำวันแรกที่มาสมัครเรียนไว้ให้ดี ว่าเรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมุ่งมั่นในการเรียนปริญญาเอกมากแค่ไหน และเพื่ออะไร แล้วบอกกับตัวเองว่าฉันจะต้องเป็นดร.ให้ได้ ไม่ใช่แค่บอกกับตัวเองว่าฉันอยากจะเป็นดร.
Partner “เพื่อนร่วมทาง สำคัญมาก” การมีเพื่อนร่วมทางที่ดีก็จะทำให้เราไปสุ่จุดหมายได้ดีขึ้น ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวคือ เพื่อนร่วมทางที่สำคัญของเรา
- ตัวเราเอง ความพร้อมของสุขภาพร่างกายและจิตใจ จำไว้ว่าเรากำลังจะวิ่งมาราธอนที่อาจจะต้องใช้แรงกายแรงใจเป็นเวลานาน
- ครอบครัว ต้องเข้าใจและพร้อมที่จะสนับสนุนเราเสมอ
- เพื่อน ทั้งเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนเก่า และที่สำคัญเพื่อนใหม่ในระดับชั้นปริญญาเอก เพราะเค้าเหล่านี้จะเป็นคนที่อยู่กับคุณมากที่สุดตอนคุณเรียน เค้าจะร่วมทุกข์ร่วมสุข หัวเราะ ร้องไห้ เห็นรอยยิ้มและคราบน้ำตา และพร้อมที่จะ Support เราเสมอ
- ครู อาจารย์ กรรมการทุกท่าน และมหาวิทยาลัย ก็เป็นเพื่อนร่วมทางคนสำคัญของเรามากๆ ถ้าไม่มีท่านอาจารย์ที่มีเมตตา มหาวิทยาลัยที่ดี เราคงมาถึงจุดนี้ได้ยาก โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษาที่แทบจะเจอกันบ่อยกว่าเจอเจ้านายที่ทำงาน ดังคำสุภาษิตที่ว่า “อาจารย์ที่ปรึกษาดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
- ทุนทรัพย์ สิ่งของ เครื่องใช้ ต้องเตรียมพร้อมเสมอ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมื่อไรคอมจะแฮงค์ ฮาร์ดดิสจะพัง แฟลชไดร์จะหาย เครื่องปรินเตอร์จะเสีย หรือรถที่ขับจะต้องเข้าอู่ และเมื่อไรที่เราจะต้องจ่ายเงินนอกเหนือจากที่คาดเดาไว้
- เวลา เพราะเวลาไม่เคยรอใคร และสายน้ำก็ไม่ไหลย้อนกลับ ดังนั้นเราจะต้องวางแผนจัดการกับเวลาให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย เวลาเป็นเพื่อนร่วมทางของเราที่จะกำหนดชีวิตเราได้เช่นกัน เพราะช่วงส่งเล่มดุษฏีนิพนธ์ เราจะอยากให้วันนึงมี 72 ชั่วโมง
Practice “เรียนรู้ ฝึกฝน และ ทบทวนนอกห้องเรียน” ในการเรียนปริญญาเอกจะไม่มีใครมาบอกให้เราต้องอ่านหนังสือเล่มโน้น เล่มนี้ ให้เขียนแบบนั้น แบบนี้ ทุกอย่างเราต้องขวนขวายด้วยตนเอง วางอีโก้ลง เพราะสิ่งที่เรารู้ ความรู้ที่เรามี มันยังไม่พอที่จะต่อกลอนในระดับปริญญาเอกได้ ดังนั้นการที่อาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้อ่านทบทวนวรรณกรรม ให้เราเขียนบทความ ให้เรานำเสนองานในเวทีต่างๆ หรือให้เราแก้ไขเล่มซ้ำแล้วซ้ำอีก …จงทำ เพราะนั่นคือการฝึกฝนให้คุณทำเป็นและเก่งขึ้น และเป็นประสบการณ์ที่ดีมากในการเรียนปริญญาเอก
Pressure “นักรบ ย่อมมีบาดแผล นักศึกษาปริญญาเอกก็เช่นกัน” มีใครสักคนเคยบอกไว้ว่า คนที่เรียนปริญญาเอกได้สำเร็จ จะเป็นคนที่มีความอดทนมากกว่าคนปกติ เพราะในช่วงเวลาที่เราเรียนต้องเจอแรงกดดันอันมหาศาลที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ บางทีก็มาเป็นระลอก บางทีก็มาพร้อมๆกันจากทุกทิศทาง เราจึงต้องสามารถจัดการกับวิกฤตินี้ให้ได้ เช่น Shopping อย่างบ้าคลั่ง หาอะไรอร่อยๆ หวานๆกินอย่างไม่ขาดปาก หรือจัดสรรเวลา 1 วันใน 1 สัปดาห์ ที่จะไม่ทำงานปริญญาเอกเลย