รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ผู้อำนวยการ หลักสูตรนิเทศศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิชาการรุ่นใหญ่วัย 60 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสำคัญได้แก่ ประธานคณะอนุกรรมการบริการวารสารเครือข่ายนักวิจัยประชามติแห่งเอเชีย (Asia Network for Public Opinion Research : ANPOR) กรรมการและที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์วิจัยและเชี่ยวชาญด้านอาเซียน (SSC ASEAN RESERARCH and EXPERT CENTER : SAREC)
ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ (28 มี.ค.) รศ.ดร.จันทิมา ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นในวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2560 จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ โดยผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลคือ การเป็นส่วนหนึ่งของทีมบรรณาธิการ วารสารเครือข่ายนักวิจัยประชามติแห่งเอเชีย (Asia Network for Public Opinion Research : ANPOR)
สำหรับวารสารดังกล่าว เป็นวารสารที่ได้รับการยอมรับในการเป็นฐานข้อมูลระดับโลก (Web of Science) และเป็นฐานข้อมูลสำหรับวารสารของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ทั้งนี้ รศ.ดร.จันทิมากล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติกับรางวัลที่ได้รับ โดยรางวัลที่ได้รับจะนำมาต่อยอดเกี่ยวกับการทำงานด้านวิชาการต่อไป ทั้งการให้บริการและสนับสนุนเชื่อมโยงงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านต่างประเทศ และสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ
“รางวัลจะช่วยสนับสนุนและช่วยผลักดันเครือข่ายนักวิจัยนานาชาติ โดยเฉพาะนักวิจัยในภูมิภาคเอเชีย ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เข้าไป ร่วมสนับสนุนทั้งเครือข่ายนักวิชาการและนักวิจัยในแต่ละประเทศ” สำหรับงานที่ยังคงมุ่งหมายทำต่อไปนั้น รศ.ดร.จันทิมากล่าวว่า คือการจัดงานสัมมนาทางวิชาการในต่างประเทศ อาศัยความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคที่ได้ช่วยกันผลักดันข้อมูลร่วมทางวิชาการ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
“เรื่องการจัดสัมมนาวิชาการต่างประเทศ ทำมาต่อเนื่องกว่า 5 ปีแล้ว ประสบความสำเร็จอย่างมากและได้รับผลตอบรับที่ดีจากนานาประเทศ เชื่อมโยงนักวิจัย นักวิชาการในแต่ละประเทศทั่วโลก ให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้”
ด้านทัศนคติต่องานห้องสมุดบรรณารักษ์ รศ.ดร.จันทิมากล่าวว่า ห้องสมุดนั้นยังคงมีความสำคัญมากต่อการที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการค้นคว้าจากโซเชียลมีเดียหรือเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกว้างขวาง แต่ในแง่ของการศึกษาอย่างลึกซึ้งแล้ว ตอบได้เลยว่าห้องสมุดยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ
“ใช่ กูเกิ้ลเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว เราไม่ตกยุค เราติดตามข้อมูลทางโลกออนไลน์ได้เหมือนกัน แต่ได้เพียงคร่าว ๆ เพราะกูเกิ้ลไม่มีเนื้อหาของงานวิชาการหรืองานวิจัยที่ลึกซึ้งหรือครบถ้วน”
เทียบกับข้อมูลในห้องสมุด แหล่งข้อมูลวิชาการที่กูเกิ้ลไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมเท่า เพราะข้อมูลพวกนี้ไม่ได้มีไว้ให้ใช้ฟรี มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องเสียเงินปีละหลายล้านบาท เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลที่พร้อมต่อการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาและประชาชนได้ค้นคว้า เพราะเช่นนั้นแล้วห้องสมุดก็ยังถือว่ามีความจำเป็นอยู่มาก
“การที่ประเทศไหนมีห้องสมุดดี ภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่ประชาชนมีการศึกษาดี มีความรู้จะมาพร้อมกับห้องสมุด ถ้าเรามีห้องสมุดเยอะ ก็เท่ากับว่าประชาชนของเรามีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ใฝ่เรียน อันนี้สิไม่ตกยุคของจริง”
ขอขอบคุณ : Posttoday